ประวัติตรุษจีนปากน้ำโพ ด้วยพลังแห่งศรัทธา - Nakhonsawan Post

Breaking

วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2560

ประวัติตรุษจีนปากน้ำโพ ด้วยพลังแห่งศรัทธา

ตรุษจีนในนครสวรรค์ ประเพณีตรุษจีน ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ตามปฏิทินจีน เป็นประเพณีเกี่ยวกับการไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ ของคนไทยเชื้อสายจีน ที่อยู่ในอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ มีกิจกรรมการแสดงหลายอย่าง เช่น การแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ แห่มังกร เชิดสิงโต

     การแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพ เป็นประเพณีที่กลายเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดดนครสวรรค์ ซึ่งปฏิบัติสืบเนื่องติดต่อกันมา การแห่เจ้าพ่อ-เจ้าแม่ปากน้ำโพเริ่มครั้งแรกเมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนจากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสของชาวไหนนำ คุณเตียงตุ่น แซ่ภู่ ว่าการแห่เจ้ามีมาก่อนที่จะเกิดโรคระบาดโดยสมัยก่อนแห่ทางน้ำ ใช้เวลาในการแห่ 2 วัน โดยอัญเชิญรูปจำลองเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าพ่อกวนอู-เจ้าแม่ทับทิม ประทับบนเกี้ยว แล้วนำลงเรือบรรทุกข้าวหรือบรรทุกไม้ ล่องไปทางตลาดใต้ บ้านตากุ๋ย แล้วอัญเชิญกลับศาล วันที่สองจะมีการทำการแห่ขึ้นไปทางเหนือทางสถานีรถไฟ ขบวนแห่จะมีแต่เฉพาะองค์เจ้าและพะโหล่ว ต่อมาเมื่อมีการคมนาคมทางบกสะดวก จึงได้อัญเชิญแห่รอบตลาดปากน้ำโพ และได้นำเอาศิลปวัฒนธรรมของชาวไหนนำ คือการเชิดเสือ พะโหล่ว สาวงามถือโบ้ยโบ้ (อาวุธเจ้า) ไซกี่ (ธง) มาร่วมในขบวน

     จวบจนกระทั่งปี พ.ศ.2460-2462 เกิดโรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาด ทำให้ประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุเพราะการแพทย์ การสาธารณสุขสมัยนั้นยังไม่เจริญเท่าที่ควร ชาวบ้านต้องพึ่งพาหมอตามบ้าน หรือซินแสจีน แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งโรคระบาดได้ ส่วนใหญ่หันไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในครั้งนั้นเจ้าพ่อแควใหญ่ (เจ้าพ่อเทพารักษ์) ได้ประทับทรง ทำพิธีรักษาโรคด้วยการเขียน “ยันต์กระดาษ” หรือเรียกว่า "ฮู้" ให้ติดตัวหรือปิดไว้หน้าบ้าน และได้นำฮู้เผาไฟเพื่อทำน้ำมนต์ให้ประชาชนได้ดื่มกินและประพรมรอบตลาด บริเวณใดที่ได้ทำพิธีแล้วก็จะใช้ผ้าแดง กั้นไว้ให้ประชาชนผ่านไปผ่านมาเส้นนี้ได้ เป็นผลให้การระบาดของโรคหมดไป ความศักดิ์สิทธิ์จากปากต่อปากที่เล่าขานและแรงศรัทธา จึงทำให้มีผู้คนศรัทธามากราบไหว้เพิ่มขึ้นทุกปี




     ปัจจุบันประเพณีการแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ เทศกาลตรุษจีนได้สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนครสวรรค์เป็นอย่างมาก ซึ่งรูปแบบการจัดงานได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย โดยได้คัดเลือกชาวตลาดปากน้ำโพเข้ามาเป็นคณะกรรมการจัดงาน หรือที่เรียกว่าคณะกรรมการกลาง โดยการจัดงานในปัจจุบันจะจัดงานในภาคกลางคืนถึง 12 คืน โดยในงานจะจัดให้มีการอุปรากรจีนทั้งไหหนำและแต้จิ๋ว การจัดขบวนแห่กลางคืนมีแสงสีที่สวยงาม ซึ่งการแห่กลางคืนนี้ถือได้ว่าเป็นการแห่ล้างตลาดก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะอัญเชิญองค์เจ้าพ่อเจ้าแม่ออกแห่

ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดียไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น