ชาวนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง คงได้รับผลกระทบเหมือน ๆ กัน กับสถานการณ์หมอกควันที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้งของทุกปี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผาพืชไร่ประเภท อ้อย และ ข้าว ทำให้เกิดกลุ่มหมอกควันที่เป็นพิษต่อการหายใจ และส่งผลให้บางท่านเกิดการเจ็บป่วย เช่น เจ็บคอ แสบจมูก หรือ มีอาการไอ
ชาวกรุงเทพฯ ก็ได้รับผลกระทบคล้าย ๆ กัน และมีการออกมาตรการ "ช่วยเหลือตัวเอง" โดยการซื้อหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือที่เรียกกันว่า PM 2.5 มาใส่กันเองจนหน้ากากดังกล่าวขาดตลาด ส่วนทางภาครัฐก็ไม่สามารถพึ่งหวังอะไรได้เลย เพราะปัญหาลักษณะดังกล่าวนี้ก็เป็นมาหลายปี และเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิม ๆ ตลอด
การแก้ไขในส่วนของจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง น่าจะเน้นไปที่การเผาอ้อยเพื่อตัดส่งโรงงาน กับการเผาตอข้าวเพื่อปลูกรอบใหม่ โดยจะต้องมีมาตรการที่ชัดเจน เด็ดขาด อาทิ
- ออกมาตรการให้โรงงานน้ำตาลงดรับอ้อยที่ผ่านการเผาทุกกรณี หรือถ้าจะรับก็ให้ราคาเพียงครึ่งเดียว เพื่อจูงใจให้เกษตรกรไม่เผาไร้อ้อย อันจะทำให้เกิดมลพิษ เป็นที่เดือดร้อนกับประชาชนทั่วไป
- ให้เงินช่วยเหลือเกษตรในกรณีที่ไม่เผาไร่ นา โดยต้องมีการตรวจสอบและเฝ้าระวังอย่างจริงจัง อาจตั้งกลุ่มเป็นตำบล อำเภอ หากไม่มีการเผาเลยให้เงินช่วยเหลือมากกว่าที่มีการเผา
- นำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาใช้ลงโทษ เช่น ป.อาญา มาตรา 220 ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือจะใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 25(4) ร่วมด้วยก็ได้ เมื่อทำเป็นตัวอย่างแล้วต่อไปก็จะได้ไม่กล้าทำในส่งที่เดือดร้อนต่อส่วนรวม
- จัดตั้งกลุ่มเฝ้าระวังระดับตำบล อำเภอ มีมาตรการป้องกันไฟไหม้ และการรับมือหากเกิดเพลิงไหม้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ให้กลุ่มต้องเดือดร้อน
ตัวเกษตรกรเองต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม ไม่ใช่นึกจะทำอะไรกับไร่นาของตนก็ทำได้ เพราะอย่างที่เห็น รายได้ของเกษตรกรต้องเอาสุขภาพของคนเป็นล้านเข้าแลก มันไม่คุ้มกันแน่นอน นอกจากกรณีเผาพืชไร่ ข้าว แล้วยังมีมาตรการอื่น ๆ ประกอบอีก เช่นเพิ่มพื้นที่ปลูกต้นไม้ใหญ่ในเมือง , ตรวจสอบควันดำของรถ , ควบคุมการก่อสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานสุขอนามัย ฯลฯ
โดยหลักการคือต้องคำนึงถึงสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ไม่ควรจะมีธุรกิจ หรืออาชีพใด ที่สามารถทำลายสุขภาพของผู้อื่นได้อย่างเสรี สุดท้ายแล้วภาครัฐ และครัวเรือน จะต้องมาเสียเงินโดยไม่จำเป็นกับค่ารักษาพยาบาล เรื่องอย่างนี้ทำไมผู้บริหาร ผู้มีอำนาจคิดกันไม่ได้ คงจะทำงานกันอยู่แต่ในห้องแอร์ มีเครื่องฟอกอากาศ ไปไหนก็มีรถนำ ไม่เคยต้องมาเดินถนนกับคนทั่วไป ..
เรื่องแบบนี้ต้อง ผู้ว่าราชการจังหวัด เท่านั้นที่เป็นคนสั่งการ เพราะมีหน่วยงานหลายหน่วยเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าผู้ว่ายังไม่ทำ ก็สมควรที่จะผลักดันให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ให้คนที่เห็นความสำคัญของประชาชนในพื้นที่เป็นคนทำจะดีกว่า ว่ามั๊ย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น