อุทยานสวรรค์ : ร่มไม้ ชายน้ำ กลางเมือง - Nakhonsawan Post

Breaking

วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557

อุทยานสวรรค์ : ร่มไม้ ชายน้ำ กลางเมือง

อุทยานสวรรค์ เป็นสวนสาธารณะกลางเมืองนครสวรรค์ ที่เป็นแหล่งพักผ่อนของครอบครัว เป็นที่ออกกำลังกายหลากหลายแบบ ให้เลือกตามกำลัง  ตามความถนัด ความชอบของแต่ละคน  และมีมุมสวย ๆ ให้ได้เก็บภาพประทับใจกันได้มากมาย  โดยระยะทางถนนภายในอุทยานฯ ประมาณ 3.3 กิโลเมตร
     สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ในอุทยานสวรรค์ ซึ่งครอบคลุมในทุกช่วงวัย อาทิ

  • เดิน - วิ่ง ออกกำลังกาย  ซึ่งทางสามารถเลือกได้ว่าจะใช้รอบใหญ่ 3.3 กม. , รอบกลางประมาณ 2 กม.เศษ  หรือรอบเล็ก ประมาณ 1 กม.เศษ  โดยใช้สะพานข้ามที่มี
  • ขี่จักรยาน ทางอุทยานได้ทำเลนจักรยานเอาไว้ให้กว้างประมาณ 1 - 1.5 เมตร  โดยให้ขับขี่ในทิศทางเดียว คือ ตามเข็มนาฬิกา  ท่านจะนำจักรยานมาเอง หรือจะมาเช่าที่รอบ ๆ อุทยานก็ได้
  • ให้อาหารปลา  มีอาหารปลาจำหน่ายหลายจุด โดยจะมีปลาขนาดใหญ่มากมาย อาทิ ปลาสวาย , ปลาดุก 
  • เรือถีบ
  • ระบายสีตุ๊กตาปูน
  • เล่นกีฬา เช่น ตะกร้อ , บาสเก็ตบอล , ฟุตซอล , แบตมินตัน , เปตอง , แอโรบิค , รำไทเก็ก , รำกระบอง , หมากรุก , รีลาศ
  • เครื่องออกกำลังกาย  มีกระจายอยู่โดยรอบ
  • สนามเด็กเล่น

     นอกจากนี้ทางอุทยานฯ ซึ่งอยู่ในความดูแลของเทศบาลนครนครสวรรค์ ก็ยังมีห้องน้ำไว้บริการหลายจุดโดยรอบ และร้านขายเครื่องดื่ม ขนม อีกหลายจุด
     อุทยานสวรรค์ นั้นผูกพันธ์ และอยู่คู่กับชาวนครสวรรค์มานาน  ช่วงออกกำลังกายที่มีคนมามากคือช่วงเช้าตรู่ และช่วงเย็น  มีที่ทำการดับเพลิงและเจ้าหน้าที่เทศบาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ คอยดูแลเรื่องความปลอดภัย  เชิญทุกท่านมาใช้ มาเที่ยวกันได้นะครับ
     สวนสาธารณะ เป็นสมบัติของชุมชน กรุณาช่วยกันรักษาความสะอาด และเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่น  ไม่ละเมิดกฎ ข้อห้าม หรือการสร้างความเดือดร้อน รบกวนผู้อื่น  ทุกคนที่มาใช้พื้นที่สาธารณะ ก็จะได้มีความทรงจำดี ๆ กันครับ




ประวัติอุทยานสวรรค์  เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ อยู่กลางเมืองนครสวรรค์ มีเนื้อที่ประมาณ 314 ไร่ ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่าหนองสมบูรณ์(ซึ่งออกเสียงเพี้ยนมาจาก หนองสมบุญ) ในอดีตเรียกหนองสาหร่าย  มีตำนานที่บันทึกไว้ในสมุดข่อยของวัดเขื่อนแดงว่าด้วยที่มาของชื่อแม่น้ำเจ้าพระยา และหนองสมบุญ
     ความเป็นมาที่บันทึกไว้ในกรุงศรีอยุธยาเรืองอำนาจ ขุนหลวงพระงั่ว หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ต้องการรวบรวมแผ่นดินสยามไว้เป็นปึกแผ่น ยกทัพขึ้นมาตีกรุงสุโขทัยที่มีพระมหาธรรมราชาลิไททรงครองแคว้นอยู่หลังจากที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ตีเมืองจำปา (จ.ชัยนาทในปัจจุบัน) แล้วจึงยกทัพเข้าล้อมเมืองพระบางไว้ซึ่งในขณะนั้นมี พระยาอัศฎานุภาพ จ้าเมืองไตรตรงษ์ (เมืองนี้ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมืองกำแพงเพชร) พระยาราชมณฑปเจ้าเมืองไพศาลี (ปัจจุบันคือบ้านหนองไผ่ ตำบลหนองไผ่ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์) พระยาวิเศษไกร เจ้าเมืองการุ้ง (ปัจจุบันคือบ้านการุ้ง ตำบลวังหิน อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี) แม้ทัพอยุธยาจะเป็นทัพใหญ่แต่เมืองพระบางโดยเจ้าพระยาทั้ง 4 นำทหารต้านศึกครั้งนี้ได้นานถึง 5 เดือน กว่าจะถูกตีแตกยึดเมืองหน้าด่านของสุโขทัยอย่างเมืองพระบางเอาไว้ได้โดยเจ้าพระยาทั้ง 4 ที่ครองเมืองถูกจับกุมไว้ได้
     เหตุที่ไม่สามารถต้านทัพอยุธยาได้นั้นก็สืบเนื่องมาจากทหารเอกของพระยาอนุมานวิจิตรเกษตรมี 2 คน คือทหารเอกสมบุญ และศรี ซึ่งขณะทำศึกนั้นศรีแปลพรรคไปเข้าทัพอยุธยานำพาทหารเข้าช่องทางลัดจนสามารถจับเจ้าเมืองทั้ง 4 และทหารเอกสมบุญได้
     ในสมุดบันทึกใบข่อยยังบันทึกว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ทรงชื่นชมความเข้มแข็งของ เจ้าพระยาทั้ง 4 และทหารเอกสมบุญ จึงให้ทหารนำมาเข้าเฝ้าและเกลี้ยกล่อมให้รับใช้ข้าราชการบ้านเมืองต่อไปโดยตรัสชื่นชมและอธิบายถึงเหตุผลที่ต้องทำศึก ว่ากรุงสุโขทัยอ่อนแอลงหัวเมืองตีจาก หากไม่รวบรวมไว้เป็นปึกแผ่นอาจเป็นจุดอ่อนให้ข้าศึกศัตรูเข้ายึดครองได้ ซึ่งพระองค์จะยังคงให้พระมหาธรรมราชาลิไท ดำรงพระยศเป็นกษัตริย์ฝ่ายเหนือเช่นเดิม แต่ขึ้นอยู่กับกรุงศรีอยุธยาเสียแต่เจ้าพระยาทั้ง 4 และทหารเอกสมบุญไม่ยอมเสียสัตย์วาจาที่ให้ไว้กับเจ้าเมืองเหนือหัวแห่งกรุงสุโขทัย และขอให้ประหารพวกตนเสีย โดยทหารเอกสมบุญกล่าวว่า ข้าพระพุทธเจ้าสมบุญทหารเอกแห่งเมืองพระบางเกิดที่หนองสาหร่ายเกิดที่ไหนก็ขอตายที่นั่นเอาร่างมาถมแผ่นดินมาตุภูมิ ขอให้พระองค์ประหารข้าพระพุทธเจ้าเสียที่หนองสาหร่ายเถิดจะเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่ง ทั้งที่เสียดายในความกล้าหาญ ซื่อสัตย์แต่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ก็จำเป็นต้องประหาร สมบุญโดยประกาศแก่ทหารกรุงศรีอยุธยาอย่าเอาเยี่ยงอย่างและทรงให้เปลี่ยนชื่อหนองสาหร่ายนี้เป็นหนองสมบุญตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ส่วนเจ้าพระยาทั้ง 4 ก็เช่นกันแม้อยู่ยงคงกระพันแต่ก็ขอให้เจ้าเหนือหัวแห่งกรุงศรีอยุธยาประหารชีวิตเสียโดยนำไปกดน้ำที่แม่น้ำใหญ่หน้าเมือง สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ก็ทรงตั้งชื่อแม่น้ำสายนี้ว่า แม่น้ำเจ้า 4 พระยา แต่นั้นมาด้วยกาลเวลาล่วงเลยมาหลายร้อยปี คำว่า 4 หายไปคงเหลือไว้แม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น
*****************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น