เดินหน้า "สัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา" - Nakhonsawan Post

Breaking

วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559

เดินหน้า "สัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา"

วาดฝันโครงการ "สัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา" กันมานานหลายปี  หวังเป็น Landmark เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดนครสวรรค์   ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 59 เวลาประมาณ 16.00 น.  ทางเทศบาลนครนครสวรรค์ ได้ลงนามสัญญาก่อสร้างอาคารสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา  และคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงกลางปี 60 นี้


     โดยมีรายละเอียดของข่าวคือ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 59 เวลา 16.00 น. ที่ห้องประชุม 3/3 สำนักงานเทศบาลนครนครสวรรค์ นายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์พร้อมด้วยนายอนันต์ ชำนาญโลหะวาณิช หุ้นส่วนบริษัทเจริญภัณฑ์พาณิชย์ (1984) จำกัด ร่วมกันทำพิธีลงนามในสัญญาจ้างโครงการก่อสร้างอาคารสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างเทศบาลนครนครสวรรค์กับบริษัท เจริญภัณฑ์พาณิชย์ (1984) จำกัด โดยมีนายสันติ ผินเจริญ ท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์ นางสมศรี เพิงพา คลังจังหวัดนครสวรรค์ นายเสวต มั่นต่าย ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครสวรรค์ นายสมศักดิ์ อรุณสุรัตน์ ประธานสภาเทศบาลนครนครสวรรค์ นายธีระเดช บางสมบุญ ปลัดเทศบาลนครนครสวรรค์ นางปราณี ทิพย์สุวรรณกุล ผู้อำนวยการสำนักการคลังเทศบาลนครนครสวรรค์และคณะผู้บริหารเทศบาลนครนครสวรรค์ร่วมเป็นสักขีพยาน 

     ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ จากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวน 117,600,000 บาท 

     โครงการจัดสร้างสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแนวคิดร่วมกันระหว่างเทศบาลนครนครสวรรค์ กับ ชมรมรักษ์เจ้าพระยา และ ประชาชนชาวนครสวรรค์ ในการจัดสร้างสัญลักษณ์บริเวณต้นแม่น้ำเจ้าพระยา สถานที่รวมของแม่น้ำ 4 สาย ต้นกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเป็นการส่งเสริมการมท่องเที่ยว เป็นแหล่งเรียนรู้ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดนครสวรรค์ และของประเทศ จะดำเนินการสร้างในพื้นที่บริเวณเกาะยม ตำบลปากน้ำโพ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ โดยเป็นพื้นที่หัวเกาะ บริเวณที่แม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน มาบรรจบกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา หรือเป็นจุดบรรจบกับของแม่น้ำสองสี มีเนื้อที่โครงการประมาณ 3 ไร่ 48 ตารางวา คาดว่าหากแล้วเสร็จจะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น

     สำหรับอาคารสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะทำการก่อสร้างขึ้นมานี้มีชื่อว่า “พาสาน” โดยมีที่มาจากคำว่าผสานคือการรวมกันแต่พาสานคือการพาคนเข้าไปสานให้เกิดการผสมผสานกันระหว่าง คน สถานที่ และช่วงเวลา
อาคารนี้ตอบสนองจุดมุ่งหมายต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะการแสดงตัวตนที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์และเอื้อประโยชน์ต่อผู้มาใช้งานและเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์ของแม่น้ำเจ้าพระยาจะถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและแทรกตัวอยู่ในธรรมชาติอย่างกลมกลืนกับลักษณะโครงสร้างคล้ายเส้นสายที่สอดประสานกันมาบรรจบที่ปลาย อันเป็นการคลี่คลายมาจากการรวมตัวกันของแม่น้ำหลักจาก 4 สาย มาประสานกันเป็นสองสายและรวมเป็นหนึ่ง อีกทั้งมุมมองที่นำเสนอนั้นเป็นมุมมองที่เริ่มจากช่วงกลางระหว่างแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน โดยสถาปัตยกรรมจะค่อยๆ ยกตัวสูง เพื่อให้เห็นแม่น้ำสองสีที่ไหลมาบรรจบเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดจนความผูกพันธ์ของชุมชนกับสายน้ำ 



     ในช่วงฤดูน้ำหลากนั้น ส่วนลักษณะของอาคารที่ยกโค้งจะโผล่พ้นน้ำ ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวสามารถพายเรือลอดส่วนโค้งของอาคารชมความงามของริมฝั่งน้ำตลอดจนความงามของสถาปัตยกรรมแห่งนี้ท่ามกลางสายน้ำ
นอกจากนี้ในส่วนของพื้นที่ใช้สอยของตัวอาคารนั้น จะมีส่วนของพิพิธภัณฑ์อยู่ในส่วนแรกของอาคาร ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเต็มไปด้วยความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและประเพณีตลอดจนวิถีชีวิตพื้นถิ่นที่ผูกพันธ์กับแม่น้ำเจ้าพระยา ในส่วนของวัสดุการก่อสร้างอาคารวัสดุหลักที่ใช้คือ คอนกรีตผสมสีขาว เนื่องจากคอนกรีตเป็นวัสดุที่สามารถทำเป็นโครงสร้างได้ มีอายุยาวนานอยู่กับน้ำได้ดีซึ่งจะใช้ในพื้นที่น้ำท่วมถึง ส่วนโครงสร้างที่ไม่โดนน้ำจะใช้เหล็กเพื่อให้ดูโปร่งและบางเบา ส่วนของวัสดุกรุผิวอาคารสัญลักษณ์จะใช้ทองแดงในส่วนที่น้ำท่วมถึงและจะใช้ไม้ในส่วนที่พ้นน้ำ ซึ่งได้แนวคิดมาจากงานสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งแบ่งออกเป็นวัดและบ้านเรือน ซึ่งวัดจะเน้นความโอ่โถงประดับด้วยกระเบื้องแก้ว โลหะหรือทองส่วนบ้านเรือนนั้นจะใช้วัสดุจากธรรมชาติโดยเฉพาะไม้มาสร้างบ้านเรือน โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้าง โดยจะเริ่มดำเนินการก่อร้างภายในต้นเดือนเมษายน พ.ศ.2559 นี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณ กลางปี พ.ศ.2560 ....



ภาพประกอบจาก www.skyscrapercity.com
ข้อมูลจากแฟนเพจเทศบาลนครนครสวรรค์ https://www.facebook.com/nsmsocial/posts/1254762534622315 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น