เปิดตำนานตรุษจีนปากน้ำโพ - Nakhonsawan Post

Breaking

วันเสาร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2562

เปิดตำนานตรุษจีนปากน้ำโพ


การแห่เจ้าพ่อ – เจ้าแม่ปากน้ำโพ เป็นประเพณีที่กล่าวเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งปฏิบัติสืบเนื่องกันมา การแห่เจ้าพ่อ – เจ้าแม่ปากน้ำโพเริ่มครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนจากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสของชาวไหหนำ คุณเตียงตุ่น แช่ภู่ ว่าการแห่เจ้ามีมาก่อนที่จะเกิดโรคระบาด โดยสมัยก่อนแห่ทางน้ำใช้เวลาในการแห่ 2 วัน โดยอัญเชิญรูปจำลองเจ้าพ่อเทพารักษ์ – เจ้าพ่อกวนอู – เจ้าแม่ทับทิม ประทับบนเกี้ยว แล้วนำลงเรือบรรทุกข้าวหรือเรือบรรทุกไม้ ล่องไปทางตลาดใต้ บ้านตากุ๋ย แล้วอัญเชิญกลับศาล วันที่สองจะทำการแห่ขึ้นไปทางเหนือทางสถานีรถไฟ ขบวนแห่จะมีเฉพาะองค์เจ้าและพะโหล่ว ต่อมาเมื่อการคมนาคมทางบกสะดวกจึงได้อัญเชิญออกแห่รอบตลาดปากน้ำโพ และได้นำเอาศิลปวัฒนธรรมของชาวไหหนำ คือการเชิดเสือพะโหล่ว สาวงามถือโบ้ยโบ้ (อาวุธเจ้า) ไซกี่ (ธง) และมาร่วมในขบวน

     จนกระทั่งปี พ.ศ. 2460 – 2462 เกิดโรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาด ทำให้ประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุเพราะการแพทย์ การสาธารณสุข สมัยนั้นยังไม่เจริญเท่าที่ควร ชาวบ้านต้องพึ่งพาหมอตามบ้าน หรือชินแสจีน แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งโรคระบาดได้ ส่วนใหญ่หันไปพึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในครั้งนั้นเจ้าพ่อแควใหญ่ (เจ้าพ่อเทพารักษ์) ได้ประทับทรง ทำพิธีรักษาโรคด้วยการเขียน “ยันต์กระดาษ” หรือเรียกว่า “ฮู้” ให้ติดตัวหรือปิดไว้หน้าบ้าน และได้นำฮู้เผาไฟเพื่อทำน้ำมนต์ให้ประชาชนดื่มกินและประพรมรอบตลาด บริเวณใดที่ได้ทำพิธีแล้วก็จะใช้ผ้าแดงกั้นไว้ให้ประชาชนผ่านไปมาเส้นทางนี้ได้ เป็นผลให้การระบาดของโรคหมดไป ความศักดิ์สิทธิ์จากปากต่อปากที่เล่าขานและแรงศรัทธา จึงทำให้มีผู้คนศรัทธามากราบไหว้เพิ่มขึ้นทุกปี

     จากแรงศรัทธานี้ทำให้ทั้งชาวไทย ชาวจีนกวางตุ้ง ชาวจีนแคะ และชาวจีนแต้จิ๋ว ได้เข้ามาร่วมในขบวนแห่โดยนำเอาศิลปะของตนเข้าร่วมในขบวนแห่ เช่น ขบวนสิงโต ขบวนมังกร ขบวนเอ็งกอ ขบวนล่อโก๊ว ฯลฯ และใน พ.ศ. 2510 ชาวไหหนำได้นำศิลปะการรำถ้วยเข้ามาในขบวนแห่และได้จัดเป็นประเพณีที่ได้ถือปฏิบัตินับแต่นั้นมา และตามบริษัท ห้างร้านต่างๆ ได้จัดโต๊ะรับเจ้าทั่วตลาดปากน้ำโพ เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อกิจการและครอบครัว

     สำหรับวันที่ใช้แห่ในช่วงที่มีแต่ชาวไหหนำนั้นขึ้นอยู่กับองค์เจ้าพ่อกำหนด แต่เมื่อมีหลายกลุ่มภาษามาร่วมในขบวนแห่ คณะกรรมการศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์-เจ้าแม่ทับทิม แควใหญ่ จึงขอต่อเจ้าพ่อเทพารักษ์กำหนดวันที่แน่นอน ซึ่งในครั้งนั้นได้กำหนดวันขึ้น 4 ค่ำ เดือนอ้ายของจีน (คือวันที่ 4 โดยให้เริ่มนับวันที่กำหนดเป็นวันตรุษจีนตามปฏิทิน เป็นวันที่ 1) โดยถือเป็นประเพณีที่ได้สืบทอดและสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนครสวรรค์นับแต่นั้นมาจนทุกวันนี้

     ในอดีตขบวนแห่ของชาวไหหนำจะเลือกลูกหลานไหหนำเข้ามาร่วมในขบวนแห่ โดยทางคณะกรรมการจะนำส้มพร้อมผ้าเช็ดหน้าและซองอั่งเปาไปมอบให้ที่บ้าน เพื่อให้เข้าร่วมแห่และคนในครอบครัวนั้นๆ จะรู้สึกปลื้มใจที่ได้เข้าร่วมในขบวนแห่ โดยถ้าถูกเลือกให้ถือธงหรือโบ้ยโบ้ บิดามารดาบ้านนั้นๆ จะตัดเสื้อผ้าชุดใหม่ แต่งตัวให้ลูกสาวอย่างสวยงาม

     ปัจจุบันประเพณีการแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่เทศกาลตรุษจีนได้สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนครสวรรค์เป็นอย่างมาก ซึ่งรูปแบบการจัดงานได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย โดยได้คัดเลือกชาวตลาดปากน้ำโพเข้ามาเป็นคณะกรรมการจัดงาน หรือที่เรียกว่าคณะกรรมการกลาง (เถ่านั้ง) โดยการจัดงานในปัจจุบันจะจัดงานในภาคกลางคืนถึง 12 คืน โดยในงานจะจัดให้มีอุปรากรจีนทั้งไหหนำและแต้จิ๋ว การจัดขบวนแห่ก็ได้จัดให้มีขบวนแห่กลางคืนมีแสงสีที่สวยงาม ซึ่งการแห่กลางคืนนี้ถือได้ว่าเป็นการล้างตลาดก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะอัญเชิญองค์เจ้าพ่อเจ้าแม่ออกแห่รอบตลาดปากน้ำโพ

     ขบวนแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพนั้น ชาวตลาดปากน้ำโพ ทั้งชาวไทย ชาวจีนแต้จิ๋ว จีนกวางตุ้งและจีนแคะ จึงได้ร่วมกับจีนไหหลำจัดการละเล่นของแต่ละกลุ่มภาษาจึงได้ร่วมกันอัญเชิญเจ้าพ่อเจ้าแม่ที่อยู่ในศาลเจ้าพ่อเทพารักษ์ มาแห่รอบตลาดเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัวของชาวตลาดปากน้ำโพเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 1 ของจีน เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ทุกคนในช่วงเทศกาลตรุษจีนและได้อัญเชิญองค์เจ้าพ่อเจ้าแม่ทุกองค์ แห่ทางน้ำ แล้วขึ้นบกแห่รอบตลาดแห่รอบตลาดปากน้ำโพ จนในปัจจุบันเปลี่ยนมาแห่ทางบกเพียงอย่างเดียว ยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันในช่วงเทศกาลตรุษจีนของทุกปีจนกลายเป็นประเพณีสืบทอดกันมากกว่า 100 ปี เพื่อแสดงการขอบคุณเทพเจ้าและเพื่อความเป็นสิริมงคล ความเจริญก้าวหน้า ในด้านการค้า การเคารพกราบไหว้เปรียบเสมือนเทพเจ้าได้มาอำนวยอวยชัยให้พรยังร้านค้าอันเป็นแหล่งทำกิน ในพิธีจะมีขบวนแห่มากมาย อาทิ เช่น สิงโต จากคณะเชื้อสายจีนต่างๆ เอ็งกอ พะบู๊ ล่อโก้ว มังกรทอง ขบวนสาวงามและนางฟ้า ขบวนองค์สมมุติเจ้าแม่กวนอิม เป็นต้น

     "งานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ" ในสมัยเริ่มแรกนั้นมีวัตถุประสงค์ในการที่จะนำองค์เจ้าพ่อเจ้าแม่แห่ไปในเส้นทางต่างๆ ในเมือง เพื่อให้ประชาชนได้สักการะขอพรให้ปัดเป่าทุกข์ภัย เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่เมือง และชาวเมืองปากน้ำโพ แต่สมัยต่อมาจนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการจัดงานและชาวตลาดปากน้ำโพเห็นว่า งานแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพนี้อยู่ในช่วงของเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นบรรยากาศของการเฉลิมฉลอง ดังนั้นจึงต้องการให้มีการจัดขบวนการแสดงต่างๆ ในขบวนแห่มากขึ้น และต่อมาจึงได้เกิดการผสมผสานทั้งพิธีกรรมความเชื่อขององค์เจ้าพ่อเจ้าแม่ และขบวนการแสดงต่างๆ เกิดเป็นความรู้สึกที่มีเพื่อทั้งความเป็นสิริมงคล และเป็นการเฉลิมฉลองปีใหม่ในช่วงเทศกาลตรุษจีนของชาวปากน้ำโพอีกด้วย

     ระเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ เป็นประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ใน จังหวัดนครสวรรค์ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเทศกาลตรุษจีน เพื่อความเป็นสิริมงคล การแห่เจ้านี้เริ่มทำครั้งแรกในพ.ศ. 2475 และได้ปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของชาวนครสวรรค์ โดยในพิธีแห่จะมี 2 รอบ คือรอบกลางคืนในวันชิวซา (วันที่ 3 เดือน 1 ตามปฏิทินของจีน) โดยเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 น. ไปจนถึง เวลา 22.00 น. สำหรับรอบกลางวัน ในวันชิวสี่ (วันที่ 4 เดือน 1 ตามปฏิทินของจีน) ในขบวนแห่รอบเมืองประกอบไปด้วย ขบวนแห่มังกรทอง ซึ่งชาวจีนถือว่าเป็นเทพเจ้าที่บันดาลคุณประโยชน์อย่างมากแก่มวลมนุษย์ จึงถือได้ว่าเป็นงานประเพณีอันยิ่งใหญ่และมีการสืบทอดกันมายาวนาน เพื่อแสดงความกตัญญู โดยมีการเชิดชูและนำเจ้าพ่อเจ้าแม่ในศาลเจ้าออกมาร่วมขบวนแห่ไปตามถนนต่างๆ ในตัวเมืองนครสวรรค์

ที่มา : หนังสือ “นครสวรรค์ศึกษา” บันทึกเรื่องราวปากน้ำโพ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น